การใช้สื่อการสอน

                                       เทคนิคการใช้สื่อการสอน



       ความหมาย
       "สื่อ" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ความหมายที่เก่ยวข้องกับการเรียนการสอน หมายถึง ติดต่อให้ถึงกัน เช่น สื่อความหมาย
       ฉะนั้น สื่อการสอนก็หมายถึง สิ่งที่ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสอน ซึ่งก็คือครูกับนักเรียนติดต่อถึงกัน เพื่อสื่อความหมายของสิ่งที่ต้องการจะสอนหรือให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้
       สรุปได้ว่า เทคนิคการช้สื่อการสอน หมายถึง กลวิธีต่างๆ ที่ครูใช้ในการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้สิ่งใดก็ตามที่บรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนการสอนในรูปของวัสดุ อุปกรณ์ และเทคนิควิธีการต่างๆ ที่ช่วยให้กิจกรรมการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และที่สำคัญนักเรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของบทเรียน



     วัตถุประสงค์ของการใช้สื่อการสอน   

 เฉลิม  มลิลา  (2526: 118)  กล่าวถึง  วัตถุประสงค์ของการใช้สื่อการสอน  ดังนี้
      1. เพื่อให้ประสบการณ์ตรง (Direct  Experience)  และเป็นจริงแก่นักเรียน
      2. เพื่อให้นักเรียนได้โดยง่าย  และสะดวกขึ้น
      3. เพื่อเร้านักเรียนให้มีความสนใจในบทเรียนอย่างต่อเนื่องตามขั้นตอน  และตลอดเวลา
      4.  เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน
      5.  เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะความสามารถ เนื่องจากไดเรียนรู้ด้วยการลงมือทดลองและฝึกปฏิบัติ (Learning  by doing)
      6.  เพื่อให้นักเรียนกล้าแสดงออกทางความคิด  และการแสดงบทบาทอย่างสมควรและโดยสมเหตุสมผลตามแนวทางที่ดีและเป็นที่พึงประสงค์ของสังคม
      7.  เพื่อให้นักเรียนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
      8.  เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนการสอน
      9.  เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดี  (interaction)  ระหว่างนักเรียนครู
     10.เพื่อให้ประหยัดเวลา  วัสดุ อุปกรณ์ ค่าใช้จ่าย  และบุคลากร  ในขณะเดียวกัน  ทำให้นักเรียนจำนวน มากเกิดการเรียนรู้อย่างคุ้มค่า  ภายใต้สถานการณ์ที่ดีและได้มาตรฐานอย่างเดียวกัน

     ประโยชน์ของสื่อการสอนที่มีต่อนักเรียน          
สื่อการสอนมีประโยชน์ต่อนักเรียนหลายประการ ประโยชน์ที่สำคัญได้แก่
1.ช่วยให้การเรียนรู้ง่ายขึ้น
2.ช่วยให้นักเรียนเรียนได้ดีขึ้นและมากขึ้น
3.ช่วยกระตุ้นนักเรียนที่มีพื้นฐานที่แตกต่างกันให้สนใจบทเรียนได้
4.เป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถช่วยให้เกิดความคิดรวบยอดในเรื่องนั้นได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
5.ช่วยกระต้นและสร้างความสนใจให้กับนักเรียน ทำให้เกิดความสนุกและไม่เบื่อหน่ายการเรียน
6.ทำให้นักเรียนมีความเข้าใจตรงกัน และเกิดประสบการณ์ร่วมกันในวิชาที่เรียนนั้น
7.ช่วยให้ประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมแก่นักเรียน
8.ช่วยให้สามารถเรียนรู้ในสิ่งที่ศึกษาได้ยากลำบากและทำให้การสอนง่ายขึ้น
9.ช่วยพัฒนาความคิดของนักเรียน
10.เพิ่มพูนประสบการณ์ให้แก่นักเรียน
11.ช่วยให้นักเรียนจดจำสิ่งที่เรียนได้มาก แม่นยำ และคงทนถาวรยิ่งขึ้น
12.ช่วยให้นักเรียนได้รับประสบกาณ์ตรง แปลกใหม่ และมีคุณค่า ซึ่งนำไปสู่การเรียนรู้ที่บรรลุเป้าหมาย และความคาดหวังของนักเรียน       

ประโยชน์ของสื่อการสอนที่มีต่อครู 
อาภรณ์  ใจเที่ยง  (2546: 188) 
ศักดิ์ศรี  ปาณะกุล (2550: 6-7)  สิริพัชร์  เจษฎาวิโรจน์  (2550: 77)  กล่าวถึง  ประโยชน์ของสื่อการสอนที่มีต่อครู สรุปได้ว่า สื่อการสอนมีประโยชน์ต่อครูอย่างยิ่ง ประโยชน์ที่สำคัญของสื่อการสอน ได้แก่
      1.   ช่วยให้ครูสอนได้ตรงตามจุดประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการเรียนการสอน และการประเมินผลไปด้วยดีและมีประสิทธิภาพ
2.  ช่วยสร้างบรรยากาศการจัดการเรียนรู้ที่ดี  น่าสนใจ สนุกสนาน  มีความน่าเชื่อถือจึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับครูได้เป็นอย่างดี 
3.  ช่วยแบ่งเบาภาระการจัดการเรียนรู้  เช่น ทำให้ครูพูดน้อยลง  ถ่ายทอดเนื้อหาด้วยตนเองน้อยลง  โดยที่นักเรียนเรียนรู้ได้เองภายใต้การกำกับดูแลหรือเงื่อนไขของครู  ไม่ต้องเตรียมและสอนซ้ำซากเพราะได้เตรียมสื่อและวิธีการใช้สื่อไว้แล้วเป็นอย่างดี  จนทำให้สามารถนำไปใช้ในครั้งต่อ ๆ ไปได้ทัน
4.  ชวยกระตุ้นให้ครูเตรียม ผลิต หรือพัฒนาสื่อใหม่ๆ  เพื่อใช้เป็นสื่อการอสน ตลอดจนคิดค้นเทคนิควิธีการต่างๆ เพื่อให้การเรียนรู้น่าสนใจยิ่งขึ้น
5.   ช่วยแก้ปัญหาและทดแทนสิ่งที่ครูไม่ถนัด  หรือขาดประสบการณ์สอน
6.   ช่วยให้ครูสามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้ได้หลากหลายรูปแบบ  
7.   ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของครูโดยตรง เพราะทำให้ครูผู้สอนสามารถสอนได้เร็ว  ถูกต้องแม่นยำ ใช้เวลาสั้นลง  แต่ทำให้นักเรียนเรียนได้มากขึ้น
8.   ช่วยให้ครูมีปฏิสัมพันธ์และติดตามดูแลนักเรียนเป็นรายบุคคล  เพราะใช้เวลาในด้านการบรรยายถ่ายทอดเนื้อหาสาระ  การเตรียมการสอนและกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ น้อยลงจึงมีเวลาเพิ่มขึ้น
9.   ช่วยให้ครูสามารถวัดและประเมินผลการเรียนรู้ได้ตรงจุดมุ่งหมายในทุกขั้นตอน
10.   ช่วยให้ครูสามารถนำประสบการณ์จากแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่มากมายภายนอกห้องเรียนมานำเสนอต่อนักเรียนและทำให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ที่มีความหมาย
11. ช่วยให้ครูได้รับทราบผลป้อนกลับจากนักเรียน และนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงแก้ไขหรือพัฒนาสื่อและการจัดการเรียนรู้ของตนได้ตลอดเวลา


สื่อในยุคปัจจุบัน
           
กิดานันท์  มลิทอง (2544: 2) กล่าวว่า  รูปแบบการศึกษาในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก  จากการเรียนนี้จึงต้องพัฒนาในห้องเรียนไปสู่การเรียนในห้องเรียนขนาดใหญ่และการศึกษาทางไกล  ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการพัฒนาสื่อการสอนโดยการนำสื่อเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้เพื่อให้ครูและนักเรียนสามารถสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เช่น
1.   การใช้กล้องโทรทัศน์ถ่ายทอดการสอนจากครูคนเดียวไปยังนักเรียนจำนวนมากที่อยู่ในห้องเรียนต่างๆ
2.   การใช้เครื่องวิชวลไลเซอร์และเครื่องแอลซีดีถ่ายทอดเนื้อหาและภาพจากวัสดุขนาดเล็กให้ฉายขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้ชมได้อย่างชัดเจนทั่วถึง
3.   การใช้เครื่องแอลซีดีถ่ายทอดข้อมูลจากคอมพิวเตอร์บนจอภาพ
4.   การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนและฝึกอบรมในรูปแบบเว็บเพื่อการศึกษา
5.   การใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตในการเรียนการสอนและฝึกอบรม  รวมถึงการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลก
6.   การใช้ดาวเทียมถ่ายทอดการสอนจากสถาบันการศึกษาหนึ่งไปยังสถาบันต่างๆ ที่อยู่ห่างไกล
7.   การวางระบบแลน  (local  area  network)  เพื่อสร้างเครือข่ายภายในสถาบันการศึกษาในการติดต่อและใช้ทรัพยากรร่วมกัน
8.   การพัฒนาระบบเครือข่ายและซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษาทางไกลในรูปแบบการสื่อสาร  ทางในลักษณะการประชุมทางไกล  (teleconference)

   ประเภทของสื่อการสอน
   
              
 สื่อการสอนมีหลายประเภท  และมีการจำแนกประเภทโดยใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกัน  สิริพัชร์  เจษฎาวิโรจน์  (2550: 71-72)  จำแนกประเภทของสื่อได้เป็น  6  ประเภทใหญ่ๆ  ดังนี้
           1.  สื่อสิ่งพิมพ์  มีทั้งพิมพ์ที่จัดทำขึ้นเพื่อสนองการเรียนรู้ตามหลักสูตรโดยตรง  เช่น  หนังสือเรียน  คู่มือครู  แผนการเรียนรู้  หนังสืออ้างอิง  หนังสืออ่านเพิ่มเติม  แบบฝึกกิจกรรม  ใบงาน ใบความรู้  ฯลฯ  และสิ่งพิมพ์ทั่วไปที่สามารถนำมาใช้ในกระบวนการเรียนรู้  เช่น  วารสาร  นิตยสาร  จุลสาร หนังสือพิมพ์  จดหมายข่าว  โปสเตอร์   แผ่นพับ  แผ่นภาพ เป็นต้น
           2.  สื่อบุคคล  หมายถึง  ตัวบุคคลที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดสาระความรู้  แนวคิด  และวิธีปฏิบัติตนไปสู่บุคคลอื่น  นับเป็นสื่อการเรียนรู้ที่มีบทบาทสำคัญ  โดยเฉพาะในด้านการโน้มน้าวจิตใจของนักเรียน  สื่อบุคคลอาจเป็นบุคลากรที่อยู่ในสถานศึกษา  เช่น  ผู้บริหาร  ครู  บุคลากรทางการศึกษา  คนทำอาหาร หรือตัวนักเรียนเอง  หรืออาจเป็นบุคลากรภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ    
           3.  สื่อวัสดุ  เป็นสื่อที่เก็บสาระความรู้อยู่ในตัวเอง  จำแนกออกเป็น 2  ลักษณะ  คือ
                    3.1  วัสดุประเภทที่สามารถถ่ายทอดความรู้อยู่ได้ด้วยตัวเอง  โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วย เช่น  รูปภาพ หุ่นจำลอง  เป็นต้น
                   3.2  วัสดุประเภทที่ไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้โดยตนเองจำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์อื่นช่วย  เช่น  ฟิล์มภาพยนตร์ เทปบันทึกเสียง  ซีดีรอม  แผ่นดิสก์  เป็นต้น
          4. สื่ออุปกรณ์  หมายถึง  สิ่งที่เป็นตัวกลางหรือตัวผ่าน ทำให้ข้อมูลหรือความรู้ที่บันทึกในวัสดุสามารถถ่ายทอดอกมาให้เห็นหรือได้ยิน  เช่น  เครื่องฉายแผ่นโปร่งใส  เครื่องฉายสไลด์ เครื่องฉายภาพยนตร์  เครื่องคอมพิวเตอร์  เครื่องบันทึกเสียง เป็นต้น
          5.  สื่อบริบท เป็นสื่อที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนการเรียนการสอน  ได้แก่  สภาพแวดล้อม และสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ห้องเรียน  ห้องปฏิบัติการ  แหล่งวิทยาการหรือแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ เช่น  ห้องสมุด  หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในรูปของสิ่งมีชีวิต  เช่น  พืชผัก  ผลไม้ สัตว์ชนิดต่างๆ หรืออยู่ในรูปของปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์ที่มีอยู่หรือเกิดขึ้นรอบตัว  ตลอดจนข่าวสารด้านต่างๆ เป็นต้น
          6.  สื่อกิจกรรม  เป็นกิจกรรมหรือกระบวนการที่จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับนักเรียน  ได้แก่  การแสดงละคร  บทบาทสมมติ  การสาธิต  สถานการณ์จำลอง การจัดนิทรรศการ  การไปทัศนศึกษานอกสถานที่  การทำโครงงาน






อ้างอิง  
ณรงค์ กาณจนะ.2553.เทคนิคและทักษะการสอนเบื้องต้น เล่ม 1.
             พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ : จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์.
              เข้าถึงได้จาก http://images.pudsa.multiply.multiplycontent.com   สืบค้นวันที่ 20/8/2554